COLUMNIST

RDF ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของพลังงานขยะ
POSTED ON -


 

หลังจากประเทศไทยปล่อยให้มีการเผาขยะโดยไม่คัดแยก เสี่ยงมลพิษมาหลายปี กระทรวงพลังงานจึงได้มีการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ เพื่อนำส่วนที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้มาผลิตพลังงาน และมีการเรียกชื่อติดปากเป็นภาษาอังกฤษว่า "RDF" (อาร์ดีเอฟ) มาจากคำเต็มว่า "Refuse Derived Fuel" หรือ "เชื้อเพลิงขยะ" แต่ก็อาจจะยังขาดความเข้าใจด้านคุณสมบัติและต้นทุนการผลิตว่า RDF นั้นมีความคุ้มค่าในการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานมากน้อยเพียงใด

 

เชื่อเพลิงขยะ (RDF) คือการปรับปรุงและแปลงสภาพขยะมูลฝอยให้กลายเป็นเชื้อเพลิงแข็ง มีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การใช้ในการผลิตพลังงาน มีค่าความร้อนสูง (Heating Value) มีความชื้นต่ำ และความหนาแน่นเหมาะสม โดย RDF ที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

 

● ค่าความร้อน (NCV) : ไม่น้อยกว่า 3,500 kcal/kg

● ความชื้น (%Moisture) : ไม่เกิน 35%

● ค่าคลอไรด์ (Chloride) : ไม่เกิน 0.5%

● ขี้เถ้า (Ash) : ไม่เกิน 15%

 

จากข้อมูลข้างต้นแสดงถึงคุณภาพขั้นต่ำของ RDF ที่ภาคอุตสาหกรรมยอมรับ และที่สำคัญสำหรับผู้ผลิต RDF เลยก็คือ ต้นทุนการผลิตและราคาซื้อขายในตลาดต้องสอดคล้องกัน

 

ในด้านต้นทุนการผลิตนั้น หากผลิตจำนวนมาก ด้วยเครื่องจักรคุณภาพดี ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อตัน แต่หากผลิตจำนวนน้อย และใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ต้นทุนก็อาจสูงถึง 3,000-4,000 บาทต่อตัน

 

ขณะที่ในส่วนของราคา จากการประกาศรับซื้อของกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์นั้นมีหลายราคาตามคุณภาพ ราคาสูงสุดคือประมาณ 1,700 บาทต่อตัน ส่งถึงหน้าโรงงาน โดยต้องมีค่าความร้อนไม่น้อยกว่า 4,500 kcal/kg ความชื้นไม่เกิน 30% ค่าคลอไรด์ต่ำกว่า 0.6% และขนาดของ RDF ไม่เกิน 20 มิลลิเมตร อ่านดูแล้วคงจะต้องใช้เครื่องจักรคุณภาพดีเท่านั้นจึงจะผลิตได้

 

ขอยกตัวอย่างอีกระดับราคา ซึ่งอาจจะผลิตได้ง่ายขึ้น ก็คือ ราคา 500 บาทต่อตัน โดยคุณสมบัติต้องมีค่าความร้อนไม่น้อยกว่า 2,500 kcal/kg ความชื้นไม่เกิน 30% ค่าคลอไรด์ไม่เกิน 0.6% และขนาดของ RDF ไม่เกิน 100 มิลลิเมตร

 

 

สำหรับประเทศไทยที่ภาครัฐกำลังทุ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF ในปีงบประมาณ 2559 นี้หลายร้อยล้านบาท เป็นโครงการกึ่งวิจัยและพัฒนา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก และยังไม่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยมาก่อน นับเป็นแนวคิดที่ดี หากแต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเครื่องจักรว่าสามารถใช้ทำงานได้นานนับ 10 ปีหรือไม่? ค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงสูงมากน้อยเพียงใด? เมื่อคิดราคาต้นทุนต่อตันแล้วคุ้มค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่? และที่สำคัญที่สุดก็คือคุณสมบัติของ RDF เป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่? มีวิธีคัดแยกคลอไรด์ออกจากขยะหรือไม่? เนื่องจากคลอไรด์คือต้นเหตุของการเกิดสารประกอบไดออกซิน มหันตภัยเงียบที่ก่อมะเร็ง ถึงแม้จะเผาในอุณหภูมิสูงก็ตาม

 

ทั้งนี้ ทางออกที่ดีของท้องถิ่นที่มีขยะมารวมกันประมาณ 50-100 ตันต่อวัน ก็คือ

 

1. ควรจัดตั้งเป็นศูนย์การจัดการขยะ ตั้งสถานีขนถ่ายรวบรวมขยะ แล้วเชิญชวนภาคเอกชนมาลงทุนผลิต RDF หรือตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

 

2. ควรคัดแยกขยะด้วยสายพานคัดแยกแบบง่ายๆ เพื่อคัดแยกวัสดุรีไซเคิลมาขาย แยกขยะแห้งและขยะเปียกออกจากกัน โดยนำขยะเปียกซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งของขยะทั้งหมดไปหมักทำปุ๋ย หรือหากมีงบประมาณเพียงพอก็หมักก๊าซชีวภาพ (Biogas) นำพลังงานมาใช้ในท้องถิ่น ส่วนขยะแห้งที่คัดแยกได้ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่จะมีพลาสติก ผ้า หนัง ยาง ไม้ และกระดาษ ก็นำไปขายเป็น RDF ในราคา 300-400 บาทต่อตัน ไม่ต้องไปลงทุนอัดแท่ง และไม่ต้องห่วงเรื่องค่าคลอไรด์ เพราะผู้ซื้อต้องนำไปคัดแยกด้วยเครื่องจักรก่อนใช้งานอยู่แล้ว

 

คงไม่มีคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องของพลังงานขยะ ปัญหาอมตะของประเทศไทยจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใต้ความตั้งใจของภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐยังต้องอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนเพื่อลงทุนในโครงการพลังงานขยะ โดยควรปรับลดกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ลง... คงอีกไม่นานเกินรอที่เราจะได้เห็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแทนภูเขาขยะอย่างในปัจจุบัน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics